ประเด็นท้าทาย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาแนวคิดทางฟิสิกส์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง รายวิชาฟิสิกส์ 1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร”
1. สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้และคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน
การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มีเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ คือ ให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการ ทฤษฎี และกฎที่เป็นพื้นฐานในวิชาวิทยาศาสตร์ สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และการดำรงชีวิตประจำวันได้ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2560) ฟิสิกส์เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับสสาร พลังงาน อันตรกิริยาระหว่างสสารกับพลังงาน และแรงพื้นฐานในธรรมชาติเพื่อใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ โดยความรู้ทางฟิสิกส์เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ประเทศชาติจึงต้องการผู้ที่มีความรู้ทางฟิสิกส์อย่างลุ่มลึกเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2561) ซึ่งกลศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของวิชาฟิสิกส์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แนวตรง แรงและกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน กฎความโน้มถ่วงสากล แรงเสียดทาน สมดุลกลของวัตถุ งานและกฎการอนุรักษ์พลังงานกล โมเมนตัมและกฎการอนุรักษ์โมเมนตัม การเคลื่อนที่แนวโค้ง ทั้งนี้กราฟของการเคลื่อนที่แนวตรงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้านกลศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับแนวคิดทางฟิสิกส์อื่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเคลื่อนที่ในแนวดิ่ง แรง มวลและกฎการเคลื่อนที่ การเคลื่อนที่แนวโค้ง เป็นต้น หากผู้เรียนขาดความรู้ความเข้าใจ อาจพบปัญหาในการเรียนฟิสิกส์ในเรื่องอื่น ๆ ได้
ผลการจัดการเรียนรู้เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 พบว่า ผู้เรียนร้อยละ 41.81 ทำแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรงไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
ผู้ศึกษาจึงได้วิเคราะห์ถึงกระบวนการทำข้อสอบ และพบว่าการที่ผู้เรียนไม่สามารถทำข้อสอบได้นั้น สาเหตุที่สำคัญคือการมีแนวคิดที่คลาดเคลื่อนเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลให้ผู้เรียนไม่สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ต่างออกไปได้ และเรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรงมีลักษณะเป็นนามธรรมทำให้เข้าใจได้ยาก
นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าผู้เรียนมีแนวคิดที่คลาดเคลื่อน เช่น ความชันหาจากการเปลี่ยนแปลงแกนนอนหรือตั้ง หรือค่าบนแกน การเปลี่ยนแปลงปริมาณหาจากค่ามากลบค่าน้อย ความชันของกราฟเส้นตรงหาจาก จุด 2 จุดที่เป็นข้อมูล ความชันของเส้นตรงมีหลายค่า ความชันของเส้นโค้งมีค่าเดียว พื้นที่ใต้กราฟมีแต่ค่าบวกเท่านั้น วัตถุเคลื่อนที่ช้าลงหรือเร็วขึ้นด้วยอัตราสม่ำเสมอแสดงว่าความความเร็วคงที่ หรือความเร่งเพิ่มขึ้น หรือลดลง วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วลดลงทิศทางจะตรงข้ามกับความเร็วเดิม เป็นต้น
แนวทางในการพัฒนาแนวคิดทางฟิสิกส์มีหลายรูปแบบ ได้แก่ แนวคิดการเรียนรู้แบบ 3 มิติ (three-dimensional learning approach) แบบวงจรการเรียนรู้ (Learning Cycle) โมเดลการเรียนรู้แบบคู่ควบ (Dual-situated learning model : DSLM) การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ฟิสิกส์ (Comprehensive Conceptual Curriculum for Physics: C 3 P) การสอนแบบ Hands-on Physics การสอนแบบ Peer Instruction ทั้งนี้ใน แต่ละรูปแบบจะมีขั้นตอนที่คล้ายกัน โดยผลจากการวิเคราะห์และสรุป มีขั้นตอนการพัฒนาแนวคิดทางฟิสิกส์ ดังนี้ 1) การสร้างพื้นฐานความคิด 2) การใช้กิจกรรมเชิงประจักษ์ 3) การอภิปรายและสรุป 4) การประยุกต์ใช้ความรู้ และ 5) ประเมิน สะท้อนผลการเรียนรู้
จากเหตุผลดังกล่าวผู้ศึกษาจึงสนใจพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาแนวคิดทางฟิสิกส์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง รายวิชาฟิสิกส์ 1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน บ้านนา “นายกพิทยากร”
2. วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล
2.1 วิเคราะห์หลักสูตรโรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร” พ.ศ. 2567 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560)
2.2 ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาแนวคิดทางฟิสิกส์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง แบบประเมินแนวคิดทางฟิสิกส์ และความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้
2.3 พัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาฟิสิกส์ 1 เรื่อง เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง โดยมีขั้นตอนการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
2.3.1 เขียนแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาแนวคิดทางฟิสิกส์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง รายวิชาฟิสิกส์ 1 ซึ่งมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ การสร้างพื้นฐานความคิด การใช้กิจกรรมเชิงประจักษ์ การอภิปรายและสรุป การประยุกต์ใช้ความรู้ และประเมิน สะท้อนผลการเรียนรู้
2.3.2 นำแผนการจัดการเรียนรู้เข้าประชุมกลุ่มชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC และปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ ตามคำแนะนำแบบกัลยาณมิตรของคู่พัฒนา
2.3.3 นำแผนการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ประเมิน และปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
2.4 พัฒนาสื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ รายวิชาฟิสิกส์ 1 เรื่อง เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง โดยมีขั้นตอนการพัฒนาสื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
2.4.1 จัดทำสื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ชุดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง ซึ่งประกอบด้วย ใบกิจกรรม แบบฝึกหัด และเกม
2.4.2 นำสื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ เข้าประชุมกลุ่มชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC และปรับปรุงสื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ ตามคำแนะนำแบบกัลยาณมิตรของคู่พัฒนา
2.4.3 นำสื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ประเมิน และปรับปรุงสื่อและนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
2.5 พัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบประเมินแนวคิดทางฟิสิกส์ โดยมีขั้นตอนการพัฒนา ดังนี้
2.5.1 ศึกษาเครื่องมือประเมินแนวคิดทางฟิสิกส์เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรงวิเคราะห์ผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้
2.5.2 คัดเลือกกลุ่มคำถามในแบบประเมินแนวคิดเรื่องแรงและการเคลื่อนที่ (Force and Motion Conceptual Evaluation: FMCE) ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่ถูกออกแบบโดย Thornton and Sokoloff มีคำถาม 47 ข้อ โดยคัดเลือกเฉพาะกลุ่มคำถามการแปลความหมายของข้อมูลจากกราฟความเร่งกับเวลา จำนวน 5 ข้อ และกลุ่มคำถามการแปลความหมายของข้อมูลจากกราฟความเร็วกับเวลา จำนวน 4 ข้อ รวมจำนวน 9 ข้อ
2.5.3 จัดทำแบบประเมินแนวคิดทางฟิสิกส์เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง เพิ่มเติม ได้แก่ การแปลความหมายของข้อมูลจากกราฟความเร็วกับเวลา จำนวน 1 ข้อ และ การแปลความหมายของข้อมูลจากกราฟตำแหน่งกับเวลา จำนวน 5 ข้อ รวมทั้งฉบับ จำนวน 15 ข้อ
2.5.4 นำแบบประเมินแนวคิดทางฟิสิกส์เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง ให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา หาค่าดัชนีความสอดคล้อง IOC และปรับปรุงแบบประเมินตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
2.6 พัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยมีขั้นตอนการพัฒนา ดังนี้
2.6.1 ศึกษาแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้
2.6.2 จัดทำแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง โดยเป็นแบบเลือกตอบ จำนวน 10 ข้อ
2.6.3 นำแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรง ให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหา หาค่าดัชนีความสอดคล้อง IOC และปรับปรุงแบบวัด ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
2.7 พัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินผลที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบประเมินการปฏิบัติกิจกรรม แบบประเมินพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และแบบประเมินความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ โดยมีขั้นตอนการพัฒนา ดังนี้
2.7.1 ศึกษาแบบประเมินการปฏิบัติกิจกรรม แบบประเมินพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ แบบประเมินความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ และจุดประสงค์การเรียนรู้
2.7.2 จัดทำแบบประเมินการปฏิบัติกิจกรรม แบบประเมินพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และแบบประเมินความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้
2.7.3 นำแบบประเมินการปฏิบัติกิจกรรม แบบประเมินพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และแบบประเมินความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ เข้าประชุมกลุ่มชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC และปรับปรุงตามคำแนะนำแบบกัลยาณมิตรของคู่พัฒนา
การเตรียมชุดทดสอบ
2.8 ก่อนดำเนินการพัฒนา ทำการวัดแนวคิดทางฟิสิกส์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรงก่อนเรียน และบันทึกผลการทดสอบไว้
2.9 ดำเนินพัฒนา โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งประเมินระหว่างการจัดการเรียนรู้ โดยใช้แบบประเมินจากการปฏิบัติกิจกรรม แบบประเมินพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้
2.10 เมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทำการวัดแนวคิดทางฟิสิกส์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรงหลังเรียน และประเมินความพึงพอใจของนักเรียนหลังเรียน
2.11 วิเคราะห์ผล แล้วนำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้วิธีการทางสถิติต่อไป
3. ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง
3.1 เชิงปริมาณ
3.1.1 ผู้เรียนร้อยละ 70 มีผลการประเมินแนวคิดทางฟิสิกส์ ร้อยละ 70 ขึ้นไป
3.1.2 ผู้เรียนร้อยละ 70 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ร้อยละ 70 ขึ้นไป
3.1.3 ผู้เรียนร้อยละ 80 มีผลการประเมินการปฏิบัติกิจกรรม และพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับดีขึ้นไป
3.1.4 ผู้เรียนร้อยละ 80 มีความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ในระดับมากขึ้นไป
3.2 เชิงคุณภาพ
3.2.1 ผู้เรียนมีแนวคิดทางฟิสิกส์ เรื่องกราฟของการเคลื่อนที่แนวตรงที่ถูกต้อง
3.2.2 ส่งเสริมการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
3.2.3 รูปแบบการจัดการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนได้